วัดกำแพงแลง หรือ วัดเทพปราสาทศิลาแลง ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างแม่น้ำเพชรบุรีมาทางตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ชื่อดั้งเดิมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด สำหรับชื่อที่เรียกกันว่า “กำแพงแลง” นั้นคงเป็นชื่อที่ผู้คนในสมัยหลังเรียกกันตามลักษณะที่พบเห็น เนื่องจากภายในวัดมีปราสาทเขมรก่อด้วยศิลาแลงและมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า "กำแพงแลง" หมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลงนั่นเอง
ลักษณะทางกายภาพวัดแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และพื้นที่สำหรับการทำสังฆกรรมโดยทั่วไป ส่วนของโบราณสถานจะอยู่ในพื้นที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีเขตของกำแพงศิลาแลงกั้น ส่วนพื้นที่ทำสังฆกรรมอยู่นอกเขตกำแพงศิลาแลง
ปราสาทวัดกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และมีโคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้า) 1 หลังที่มียอดเป็นปราสาท ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วย[[1]]
โคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ลักษณะเป็นปราสาทเขมร ศิขระหรือส่วนยอดยังคงสภาพของแต่ละส่วนไว้อย่างสมบูรณ์ ตัวเรือนธาตุของปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุทั้ง 4 ด้านเป็นจตุรมุขลดหลั่นกัน 2 ชั้น สันหลังคามุขประดับด้วยบราลี มุขแต่ละด้านมีหน้าต่างหลอกเป็นลูกกรงมะหวดที่ผนังด้านข้างด้านละ 1 แห่ง ประตูทางเข้ามีเพียงทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้นที่สามารถเดินเข้าไปได้ ส่วนประตูทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ รอบโคปุระพบบัวเชิงผนัง ส่วนฐานโคปุระ มีผังเป็นรูปกากบาทตัดกัน เนื่องจากเป็นซุ้มประตูทางเข้าจึงทำเป็นฐานทรงเตี้ยสำหรับเดินเข้าได้อย่างสะดวก ปัจจุบันที่โคปุระไม่พบลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่แล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยของปูนที่ฉาบอยู่ด้านนอกเท่านั้น[[2]]
ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น ศิขระหรือส่วนยอดของปราสาทได้หักพังลงมาแล้ว แต่ยังคงเหลือชั้นรัดประคดและชั้นอัสดงอยู่ รวมทั้งมีนาคปักและกลีบขนุนตามอยู่ตามส่วนยอดอยู่บ้าง เรือนธาตุของปราสาทประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ซุ้มหน้าบันเหนือประตูทางเข้าด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของปราสาทยังมีลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่เช่นเดียวกับบริเวณฐาน[[3]]
ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทประธาน ปัจจุบันหักพังลงเหลือเพียงส่วนด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเท่านั้น ลักษณะคงเป็นเช่นเดียวกับปราสาทประธานแต่มีขนาดเล็กกว่า มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกสลักปิดทึบไว้ 2 ชั้น[[4]]
ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ทางทิศใต้ของปราสาทประธาน มีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทองค์อื่นและคงมีขนาดสูงใหญ่เช่นเดียวกับปราสาททิศเหนือ โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของส่วนยอดหรือศิขระ ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนเรือนธาตุและฐานบางส่วนได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยหลัง มีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ ที่สันของประตูหลอกปั้นปูนเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยทั้งสองด้าน ปัจจุบันชำรุดไปมากเหลือเพียงส่วนโกลนของศิลาแลง[[5]]
ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายลงมาเกือบหมด เหลือเพียงผนังทางด้านทิศเหนือและส่วนฐานซึ่งมีความสูงกว่าปราสาททุกองค์เท่านั้น ลักษณะคล้ายกับปราสาททางด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอก[[6]]
ก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบกลุ่มปราสาทและสระน้ำไว้ภายใน ที่กึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงทั้ง 4 ด้านมีประตูทางเข้าด้านละ 1 ประตู สันกำแพงประดับด้วยบราลีศิลาแลง[[7]]
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มปราสาทภายในเขตของกำแพงแก้ว เป็นสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง ปัจจุบันถูกถมไปแล้ว
เนื่องจากปราสาทวัดกำแพงแลงก่อสร้างด้วยศิลาแลง ซึ่งคุณสมบัติของศิลาแลงจะมีความแข็ง แต่มีรูพรุนไม่สามารถจะนำแกะสลักได้ ดังนั้นเมื่อมีการสร้างเสร็จจะมีการฉาบปูนทั่วทั้งปราสาทประมาณสองรอบเมื่อฉาบปูนเสร็จก็จะมีการทำลวดลายต่างๆ ด้วยปูนปั้นประดับตามตัวปราสาท ซึ่งจากการศึกษาของเหล่านักวิชาการนั้นพบว่าร่องรอยลวดลายที่ปรากฏอยู่บนตัวปราสาทนั้นเป็นลวดลายคล้ายกับศิลปะเขมรแบบบายน (พ.ศ. 1720 - 1733) ลวดลายปูนปั้นนั้น พบที่ปราสาทองค์กลางมากที่สุดและยังมีหลงเหลือที่ปราสาททิศใต้อีกเล็กน้อย ลักษณะลวดลายมีดังต่อไปนี้
พบอยู่บริเวณด้านหลังของปราสาท ลวดลายที่เหลืออยู่ คือ บริเวณหน้าบัน บริเวณลายลวดบัวหัวเสา บัวผนังเชิง และกลีบขนุน จากลวดลายข้างต้นสามารถนำมาเปรียบเทียบกับลวดลายจากปราสาทบายน ซึ่งเป็นปราสาทสมัยบายน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (มีอายุเวลาในช่วง พ.ศ. 1720-1773) โดยสามารถนำมาเปรียบเทียบลวดลายได้ดังนี้
ลวดลายตกแต่งบริเวณหัวเสาที่พบ[[8]]
การเปรียบเทียบลวดลายบริเวณหน้าบันจากปราสาทบายน และปราสาทวัดกำแพงแลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของลวดลายนั้น เหมือนกับที่พบที่ปราสาทบายน เห็นได้ชัดจากส่วนของใบระกา ลักษณะเป็นปลายแหลมสอบขึ้น แต่เนื่องจากฝีมือช่างของปราสาทแห่งนี้ เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านจึงอาจมีลักษณะที่ต่างออกไป นอกจากนี้ ปลายหน้าบันยังเป็นรูปพญานาค 5 เศียร สวมกระบังหน้า ซึ่งเป็นอิทธิพลในช่วงปลายศิลปะสมัยนครวัด ที่ยังคงส่งอิทธิพลต่อศิลปะสมัยบายน แต่ที่ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ฝีมือช่างอาจต่างกันเนื่องจากเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน
พบเป็นลวดลายปูนปั้นรูปพระพุทธรูปในประตูหลอกด้านทิศใต้และทิศเหนือของปราสาท จากการสันนิษฐานเชื่อว่าพระพุทธรูปปูนปั้นดังกล่าว สร้างขึ้นในสมัยหลังจากการสร้างตัวปราสาทหลังนี้ ลวดลายปูนปั้นได้แก่
ปูนปั้นพระพุทธรูปด้านทิศใต้ของปราสาท ปางประทานพรพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือชายจีวร
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่ปั้นอยู่บนแกนประตูหลอกแสดงให้เห็นว่าปราสาททั้งสามหลังนี้ ไม่เชื่อมต่อกัน[[13]]
ปูนปั้นพระพุทธรูปด้านทิศเหนือของปราสาท ลวดลายหลุดออกไปมาก ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นปางใด แต่ก็ยังเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่ปั้นอยู่บนแกนประตูหลอกแสดงให้เห็นว่าปราสาททั้งสามหลังนี้ ไม่เชื่อมต่อกัน[[14]]
โบราณวัตถุสำคัญที่พบ พบทั้งหมด 5 ชิ้น ได้แก่
พบตรงบริเวณปราสาททิศตะวันตก ลักษณะประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมีที่พบ ทำจากวัสดุศิลาทรายขาว วรกายชำรุดหักพังในส่วนศีรษะ แขน และขา แต่ยังคงพบศีรษะในบริเวณใกล้เคียงอยู่ ลวดลายบริเวณพระวรกายท่อนบนตรงบริเวณพระอุระปรากฏพระพุทธรูปปางสมาธิองค์เล็กประดับเรียงเป็นแถว ถ้าสมบูรณ์ จะมี 8 พระกร มีพระพุทธรูปปางสมาธิประดับเหนือกระบังหน้า สวมพระธำมรงค์ที่มีหัวเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่นิ้วพระบาททั้งสิบ อันแสดงถึงภาวะเหนือพระพุทธเจ้าทั้งปวง[[15]][[16]]
พบในสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนพระวรกายและท่อนแขน 4 ท่อน ทรงภูษาสมพตในศิลปะเขมรแบบบายน ถ้าสมบูรณ์ จะมี 4 กร กรซ้ายหน้าถือดอกบัว กรขวาหน้าถือหม้อน้ำ กรซ้ายหลังถือประคำ กรขวาหลังถือคัมภีร์[[17]]
เป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ลักษณะที่พบเหลือเพียงส่วนของพระพักตร์และพระอุระ ด้านหลังมีแผ่นหินสลักติดเป็นตัวนาคแผ่พังพาน ถ้าสมบูรณ์จะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก บนฐานพญานาคขด ปางสมาธิ เป็นพระวัชรสัตว์ในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา คำว่า วัชรสัตว์ เป็นพระนามที่เขมรใช้เรียกพระอาทิพุทธะหรือพระมหาไวโรจนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน ซึ่งศิลปเขมรนิยมสร้างออกมาในรูปแบบพระพุทธรูปนาคปรก[[18]]
พบเพียงส่วนเศียรเท่านั้น ปัจจุบันเป็นสมบัติเอกชน ถ้าสมบูรณ์จะพบอยู่ในรูปพระโพธิสัตว์เพศหญิง มี 2 กร กรซ้ายถือดอกบัว ภายในมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา กรขวาแสดงปางประทานพร
หัวสะพานนี้ไม่ได้พบภายในวัดกำแพงแลง แต่พบว่าได้จัดเก็บไว้ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยลักษณะเป็นหัวบันไดครุฑยุดนาค แต่ที่พบนี้ ชำรุดไปมาก เหลือเพียงส่วนของขาครุฑ และหัวพญานาค 3 เศียรเท่านั้น ซึ่งลักษณะของหัวสะพานเช่นนี้ เป็นที่นิยมมาในศิลปะเขมรสมัยบายน ดังตัวอย่างจากหัวสะพานรูปครุฑยุคนาด ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร[[19]]
ประติมากรรมที่พบบริเวณปราสาทวัดกำแพงแลงเป็นหลักฐานที่สำคัญที่จะสื่อให้เห็นว่าโบราณสถานแห่งนี้ สร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ซึ่งเป็นลัทธิที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือมาก พระองค์ได้มีความนิยมในการสร้างรูปเคารพภายใต้ลัทธินี้อย่างแพร่หลาย รูปเคารพสำคัญ ได้แก่ พระโลเกศวรสี่กร พระวัชรสัตว์นาคปรกและพระนางปรัชญาปารมิตา ความหมายของการสร้างรูปเคารพทั้งสามนี้ คือการสร้างรูปเคารพแทนความหมายเชิงอภิปรัชญา โดยพระโลเกศวรแทนความเป็นอุบายเพื่อนำไปสู่ปัญญา พระวัชรสัตว์นาคปรกแทนสภาวะของพระโพธิญาณอันหมายถึงศูนยตา และพระนางปรัชญาปารมิตาเป็นตัวแทนของปัญญา รวมความหมายคืออุบายและปัญญา เป็นหนทางไปสู่ความเป็นศูนฺยตา เมื่อนำรูปเคารพที่พบมาเรียงกันแล้ว จะพบว่า ปราสาทต่างๆ ก็สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่รูปเคารพเหล่านั้นด้วย โดยปราสาทองค์กลางสร้างขึ้นถวายแด่ พระวัชรสัตว์พุทธะ (พระมหาไวโรจนะหรือพระอาทิพุทธะ) ลักษณะของพระวัชรสัตว์โดยทั่วไปนั้นคือ พระพุทธรูปนาคปรก ปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปเคารพปรัชญาปารมิตา ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปเคารพพระโลเกศวรสี่กร จากการวางผังทั้งสามนี้ ทำให้ทราบว่ารูปเคารพที่พบเป็นรูปเคารพในลัทธิวัชรยาน ศิลปะเขมรแบบบายน
การวางผังของปราสาท พบการวางแนวปราสาทคล้ายคลึงกับปราสาทเขมรทั่วไป คือพบยอดปรางค์ปราสาท 5 หลัง เรียงประจำตามทิศทั้ง 4 ซึ่งที่วัดกำแพงแลงแห่งนี้พบว่าปราสาททางทิศตะวันออกเป็นโคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้ามีการวางแนวของปราสาทสำคัญ 3 หลังในแนวเหนือ-ใต้ โดยมีปราสาทประธานองค์กลางเป็นแกน ทางทิศตะวันตกพบปราสาทอีกหนึ่งหลัง เมื่อมองเพียงรูปของการวางผังอาจเทียบคล้ายกับการวางผังของปราสาทเขมรโดยทั่วไป การวางแนวของปราสาทสำคัญ 3 หลังเทียบได้กับที่พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีผังการวางแนวปรางค์ประธาน เรียงกันสามองค์เช่นกัน โดยการวางผังนี้ อยู่ภายใต้คติความเชื่อของศาสนาพุทธ ลัทธิวัชรยาน คือการสร้างปราสาท สามหลัง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ดังนี้
จากลักษณะของปราสาทวัดกพแพงแลงเมื่อเทียบกับปราสาทเขมรแล้วมีความใกล้เคียงกันมาก ตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดนั้น มีองค์ประกอบที่คล้ายกัน กล่าวคือองค์ประกอบในส่วนของการสร้างต่างๆ เช่น บราลีบนสันหลังคา ชั้นภูมิของปรางค์ ยอดพินทุ กลีบขนุน ก็เป็นไปตามระเบียบวิธีการสร้างปราสาทเขมร แต่การวางผังปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ พบเพียงส่วนของเรือนธาตุและมุขที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่มีส่วนของมณฑป มุขสันตามแบบปราสาทเขมรหลังอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย
การกำหนดอายุเวลาของโบราณสถานวัดกำแพงแลง กำหนดอายุเวลาในการสร้างอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ระหว่างปี พ.ศ. 1724-1773 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์ เป็นศิลปะแบบบายนปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอายุเวลาดังกล่าวมีดังนี้
เป็นวัสดุที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ช่างนิยมใช้กันเนื่องจากเหตุผลบางประการคือ ขาดแคลนหิน และนำวัสดุที่พบง่ายในท้องถิ่นของตัวเองนำเอามาสร้าง สะดวกในการหาใช้ และต้องการความแข็งแรง คงทนก็คือ ศิลาแลง ซึ่งเราหากมองย้อนไปว่าที่เขมรในช่วงสมัยเมืองพระนคร พุทธศตวรรษที่ 16-17 นั้นปราสาทที่สร้างขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะสร้างด้วยหินทรายซึ่งได้มาจากเขาพนมกุเลน พอมาถึงสมัยบายนหินเริ่มขาดแคลนหินที่นำมาก่อสร้างปราสาทบายนนั้นเป็นหินที่ไม่ค่อยมีคุณภาพและเหลือน้อยจึงจำต้องหาวัสดุอื่นมาเสริมก็คือศิลาแลงแต่ก็ใช้ในส่วนที่เป็นฐานเท่านั้น ซึ่งเมื่ออิทธิพลเขมรได้แผ่ขยายเข้าในภาคกลางของประเทศไทยนั้นก็เกิดมีการสร้างปราสาทแบบเขมรจำนวนมาก ปราสาทที่พบร่วมสมัยนี้มักสร้างด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาใช้ในการก่อสร้าง ดังนั้นการสร้างปราสาทกำแพงแลง ก็เลยนำวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นอันได้แก่ ศิลาแลง นำมาก่อสร้างซึ่งสันนิษฐานอายุเวลาได้ว่าร่วมสมัยกับศิลปะบายน
ลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือพระโพธิสัตว์ 3 องค์สำคัญในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา ปราสาทิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโลเกศวรสี่กร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในลัทธิวัชรยาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงสามารถกำหนดอายุเวลา ในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่า ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ลายประดับปูนปั้นที่พบนั้น ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นลายในศิลปะสมัยบายนนั้นก็คือ ลายดอกไม้วงกลม ซึ่งเป็นลายที่นิยมมากในการประดับอาคารสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยลายนี้ ได้รับอิทธิพลจากผ้าแพรของจีน นอกจากนั้น ในส่วนของลายหน้าบัน ลายพญานาค 5 เศียรสวมกระบังหน้า และการนุ่งผ้าสมพตของภาพบุคคลในกลีบขนุน ก็แสดงถึงเอกลักษณ์ลวดลายของศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
นอกจากรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์ 3 องค์สำคัญในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา ได้แก่ พระโลเกศวรสี่กร พระวัชรสัตว์นาคปรกและพระนางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพพระโลเกศวรเปล่งรัศมี ที่เป็นตัวยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ยังมีประติมากรรมหัวสะพานรูปครุฑยุดนาค ที่เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างปราสาทในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างหัวสะพานของปราสาทบายน ที่เป็นรูปครุฑยุดนาคเช่นกัน ดังนั้นแสดงว่าประติมากรรมที่พบนี้ มีอายุเวลาร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์ เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน
การสร้างปราสาทแห่งนี้ คาดว่าเป็นอิทธิพลของเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พระองค์มีอำนาจในการแผ่ขยายอิทธิพลมายังภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นปราสาทที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย จึงมีการสร้างคติความเชื่อศาสนาตามเมืองพระนครและเมืองใต้อิทธิพลของพระองค์ จากจารึกปราสาทพระขรรค์ ได้กล่าวว่ามีการส่ง “พระชัยพุทธมหานาถ” พระพุทธรูปที่มีหน้าตาเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรวมกับพระวัชรสัตว์ เป็นผู้มีเมตตายิ่งใหญ่ มาเพื่อประดิษฐานปราสาทเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” จากจารึกนี้ ถ้ามีการส่งพระชัยพุทธมหานาถมาจริง ก็เป็นเสมือนเครื่องหมายของการแผ่ขยายอำนาจของพระองค์เอง และแสดงนัยยะของการปกครองโดยธรรมผ่านศาสนาพุทธลัทธิวัชรยาน
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ทราบว่า ปราสาทกำแพงแลงสร้างขึ้นภายใต้คติของวัชรยาน ได้รับอิทธิพลมาจากเขมรศิลปะแบบบายน เทียบอายุเวลาจากวัสดุในการก่อสร้างปราสาท (ศิลาแลง) ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ลวดลายปูนปั้นประดับ ประติมากรรม และจารึกปราสาทพระขรรค์ ที่กล่าวถึงการส่งพระพุทธรูป จากปัจจัยเหล่านี้ กำหนดอายุเวลาได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ระหว่างปี พ.ศ. 1724-1763 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์
ส่วนโกลนของพระพุทธรูปในปราสาททิศใต้นั้น เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคหลัง คาดว่าเป็นช่วงที่อิทธิพลของศาสนาพุทธลัทธิหีนยาน แผ่ขยายเหนือพื้นที่นี้ จึงสร้างลวดลายปูนปั้นพระพุทธรูปขึ้น